เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา Figma แพลตฟอร์มออกแบบ UI/UX แบบร่วมมือชื่อดัง ได้ประกาศยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) โดยมีแผนใช้สัญลักษณ์ “FIG” เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ซึ่ง IPO ครั้งนี้อาจระดมทุนได้สูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ ทำให้มีโอกาสเป็น IPO เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของปีนี้หากสำเร็จ


บรรณาธิการ
Table of Contents
เกือบถูก Adobe ซื้อกิจการ แต่ดีลล่มเพราะกฎระเบียบ
Figma เคยเกือบถูก Adobe เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่า 20 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 แต่ดีลดังกล่าวต้องล้มเลิกเพราะแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป โดย Adobe ยังต้องจ่ายค่าฉีกสัญญาให้ Figma มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์หลังยกเลิกดีล โดย CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Dylan Field เคยให้สัมภาษณ์ชัดว่า
“เราได้สำรวจทางเลือกการถูกซื้อกิจการอย่างถี่ถ้วนแล้ว และตอนนี้จะเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน”
รายได้เติบโตต่อเนื่อง แม้เคยขาดทุนจากชดเชยพนักงาน
ข้อมูลจากไฟลิ่งเผยว่าในปี 2024 Figma มีรายได้ 749 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 48% จากปีก่อน และในไตรมาสแรกปี 2025 รายได้แตะ 228.2 ล้านดอลลาร์ โตต่อเนื่อง 46% เมื่อเทียบปีต่อปี ขณะที่มีกำไรสุทธิ 44.9 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสเดียวกัน แม้ว่าปี 2023 จะขาดทุน 732 ล้านดอลลาร์จากต้นทุนชดเชยหุ้นพนักงานครั้งใหญ่ โดยออปชันหุ้นที่ Figma แจกมีจำนวน 10.5 ล้านหน่วย ที่ราคาซื้อ $8.50 ต่อหุ้น
สถานะการเงินและกลยุทธ์การลงทุนหลากหลาย
Figma รายงานว่ามีเงินสดและเงินลงทุนรวม 1.54 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อีกทั้งในปีนี้ยังได้อนุมัติการลงทุนใน Bitcoin ETF ของ Bitwise จำนวน 55 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมูลค่าเพิ่มเป็น 69.5 ล้านดอลลาร์ภายในไตรมาสแรก และในเดือนพฤษภาคม Figma ลงทุนเพิ่มอีก 30 ล้านดอลลาร์ใน USD Coin (เหรียญ Stablecoin)
นอกจากนี้ Figma ยังเข้าซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีไม่เปิดเผยชื่อมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์ บริษัทซอฟต์แวร์จัดการคอนเทนต์มูลค่า 35.5 ล้านดอลลาร์ และสตาร์ทอัพ CMS ชื่อ Payload ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Google และ MongoDB
ฐานผู้ใช้ที่เติบโตระดับโลก และลูกค้าองค์กรชั้นนำ
Figma เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผู้ใช้ 13 ล้านคนต่อเดือน (MAU) ในไตรมาสแรกของปี 2025 โดยหนึ่งในสามเป็นนักออกแบบมืออาชีพ และที่เหลือเป็นนักพัฒนา นักการตลาด และบทบาทอื่น ๆ โดย 85% ของผู้ใช้มาจากนอกสหรัฐอเมริกา
Figma ยังครอบคลุมลูกค้าระดับองค์กรใหญ่ เช่น Duolingo, Mercado Libre, Netflix, Pentagram, ServiceNow และ Stripe โดย Bill McDermott ซีอีโอของ ServiceNow ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของ Figma ด้วย

Dylan Field คุมสิทธิ์โหวตเด็ดขาด
Dylan Field ยังคงถือสิทธิ์ควบคุมกว่า 75% ของสิทธิ์โหวตก่อนการ IPO ผ่านหุ้นซุปเปอร์โหวต Class B ส่วนหุ้นของอดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Evan Wallace ซึ่งออกจากบริษัทในปี 2021 ถูกระบุว่ามอบสิทธิ์โหวตทั้งหมดให้ Field แล้ว
กลยุทธ์ลงทุน AI ดันนวัตกรรมต่อเนื่อง
Figma ระบุว่าการลงทุนใน AI เป็นกลยุทธ์สำคัญระยะยาว แม้ยอมรับว่าอาจฉุดประสิทธิภาพในช่วงแรก แต่ AI เป็นกุญแจสำคัญต่ออนาคตของ Work flow การออกแบบ โดยปีที่ผ่านมา Figma ได้ขยายฟีเจอร์ใหม่ทั้งเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ เขียนโค้ดด้วย AI สร้างภาพประกอบ และอนุญาตโมเดล AI เชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ออกแบบโดยตรง
รายชื่อผู้จัดการการเสนอขายหุ้น และนักลงทุนใหญ่
การเสนอขายหุ้นครั้งนี้นำโดย Morgan Stanley, Goldman Sachs, Allen & Co., และ J.P. Morgan โดยมีบริษัทลงทุนใหญ่ที่ถือหุ้นอยู่แล้ว เช่น Index Ventures, Greylock Partners, Kleiner Perkins และ Sequoia Capital
รายละเอียด IPO ยังไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้ รายละเอียดจำนวนหุ้นและราคาเสนอขายยังไม่ได้รับการเปิดเผย และการเสนอขายหุ้นจะมีผลก็ต่อเมื่อไฟลิ่งแบบ S-1 ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการจาก SEC
วิสัยทัศน์ของ Dylan Field เพื่อการเติบโตระยะยาว
Dylan Field ได้กล่าวกับผู้ถือหุ้นในจดหมายประกอบไฟลิ่งว่า
“เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายประสิทธิภาพสูงสุด แต่ต้องการสร้างการเติบโตระยะยาว ด้วยการสนับสนุนดีไซเนอร์ที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
พร้อมบอกเป็นนัยว่าบริษัทจะใช้การควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อขยายแพลตฟอร์มต่อไป