ไมโครซอฟท์ประกาศอย่างเป็นทางการยุติบทบาทของหน้าจอแจ้งข้อผิดพลาดสุดคลาสสิก “Blue Screen of Death” (BSOD) ที่อยู่กับผู้ใช้ Windows มาตั้งแต่ปี 1985 โดยจะเปลี่ยนเป็น “Black Screen of Death” (BSOD เช่นกันแต่สีดำ) ซึ่งจะเริ่มใช้งานบน Windows 11 เวอร์ชัน 24H2 ภายในช่วงหน้าร้อนปีนี้


บรรณาธิการ
Table of Contents
เหตุผลที่ Microsoft เปลี่ยนจาก Blue Screen of Death เป็น Black Screen of Death
ไมโครซอฟท์ระบุว่าการเปลี่ยนสีหน้าจอแจ้งปัญหานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Windows Resiliency Initiative ที่มุ่งเน้นเพิ่มความเสถียรและความปลอดภัยของระบบ Windows โดย Black Screen ใหม่นี้จะช่วยให้การรีสตาร์ทหลังเครื่องค้างเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นภายใน 2 วินาทีสำหรับผู้ใช้ส่วนใหญ่ พร้อมข้อมูลโค้ดปัญหาและชื่อไดรเวอร์ที่ทำให้เกิดปัญหา ช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
ต้นกำเนิดของ Blue Screen of Death เริ่มตั้งแต่ Windows เวอร์ชันแรก ๆ ในยุค 80 โดยหน้าจอสีน้ำเงินถูกเลือกเพราะตรงกับหน้าจอบูตและโปรแกรมแก้ไขข้อความของวิศวกรไมโครซอฟท์ในยุคนั้น ซึ่งแม้ในภายหลัง Windows 8 จะเพิ่มอีโมจิหน้าเศร้า :( และ Windows 10 เพิ่ม QR Code เพื่อให้ผู้ใช้หาข้อมูลแก้ไขได้สะดวกขึ้น แต่ความหวาดผวาของผู้ใช้เมื่อเห็น BSOD ยังคงเหมือนเดิม
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สำคัญในปี 2024 ที่ซอฟต์แวร์ CrowdStrike อัปเดตผิดพลาด ทำให้คอมพิวเตอร์ Windows ทั่วโลกกว่า 8 ล้านเครื่องแสดงหน้าจอ Blue Screen พร้อมกันจนระบบ IT ขององค์กรสำคัญทั่วโลกหยุดชะงัก
ถึงอย่างนั้น ความทรงจำต่อหน้าจอสีน้ำเงินนี้ยังฝังอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ มีทั้งมุกตลก มีม เสื้อยืด และแม้แต่ subreddit เฉพาะ โดยผู้ใช้หลายคนยอมรับว่าแม้ BSOD จะเป็นสัญญาณของปัญหา แต่ก็เป็น “พิธีกรรม” ที่ผลักดันให้พวกเขาเข้าใจคอมพิวเตอร์มากขึ้น

อย่างไรก็ตามไมโครซอฟท์ยืนยันว่า Black Screen of Death จะทำให้ประสบการณ์ใช้งาน Windows ดีขึ้น ง่ายต่อการแก้ไขปัญหา และสอดคล้องกับดีไซน์มินิมอลของ Windows 11 โดยแม้ BSOD แบบเดิมจะหายไป แต่ความทรงจำของหน้าจอสีน้ำเงินที่เคยสร้างทั้งความหัวเสียและความฮาให้ผู้ใช้ Windows จะคงอยู่ในประวัติศาสตร์วงการไอทีไปอีกนาน
Black Screen of Death มีอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป
- สีพื้นหลังเปลี่ยนจากน้ำเงินเป็นดำ ที่เป็นหน้าจอพื้นดำ (Black Screen) ก็เพื่อให้สอดคล้องกับดีไซน์ของ Windows 11 และหน้าจออื่น ๆ เช่น Login/Shutdown screen
- เหลือเพียงประโยค “Your device ran into a problem and needs to restart.” ไม่มีอีโมจิหน้าเศร้า :( และไม่มี QR code แบบที่มีใน Windows 8 และ 10 แล้ว
- ตัดองค์ประกอบตกแต่งออก ให้แสดงแค่ข้อความ, stop code, และ driver ที่ก่อปัญหา ทำให้จุดโฟกัสอยู่ที่ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์ปัญหา
- เร็วขึ้นกว่าเดิม ตามไมโครซอฟท์ บอกว่าการรีบูตหลังเกิด BSOD จะใช้เวลาน้อยกว่าเดิม ประมาณ 2 วินาทีสำหรับผู้ใช้ส่วนใหญ่ ช่วยให้กู้คืนเครื่องเร็วขึ้น
- ออกแบบให้สอดคล้องกับ Windows Resiliency Initiative เป็นส่วนหนึ่งของโครงการยกระดับความทนทานและความปลอดภัยของ Windows การปรับปรุงนี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ CrowdStrike 2024 ที่ทำให้คอม Windows ทั่วโลกค้างพร้อมกัน
- เน้นความอ่านง่าย (readability) ใช้ตัวอักษรสีขาวบนพื้นดำ ชัดเจนแม้ในสภาพแสงแตกต่าง ยึดตามหลักดีไซน์ Windows 11 ที่เน้นความเรียบง่าย (minimalism)